
แม้ทุกวันนี้ AI จะช่วยให้การทำงาน และการใช้ชีวิตง่ายขึ้น ที่ลดระยะเวลาในการทำงาน ไปได้มาก และตอบคำถามได้แทบทุกอย่าง เหมือนรู้ลึก รู้จริง จนหลายคนเริ่มพึ่งพา AI มากกว่าปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
ข้อมูลจากสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เผยว่า คนไทยเชื่อคำตอบจาก AI เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากอินเดีย ซึ่งการที่เราปรับตัวและเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆได้เร็วย่อมเป็นเรื่องดี
แต่ขณะเดียวกัน ก็เป็นสิ่งที่น่ากังวล เมื่อหลายคนเริ่มไม่ตั้งคำถามกับสิ่งที่ AI ตอบ แค่เพราะมันดูฉลาด สมเหตุสมผล และน่าเชื่อถือ
เราเชื่อ AI ได้มากแค่ไหน?
ยกตัวอย่างแพลตฟอร์ม AI ที่คนส่วนมากนิยมใช้งาน อย่าง ChatGPT ด้วยความสามารถที่โดดเด่นด้านการตอบคำถาม และช่วยคิดไอเดียใหม่ๆได้อย่างรวดเร็ว โดยโมเดลล่าสุด มีอัตราความแม่นยำถึง 88.7%
แต่ถึงอย่างนั้น AI ก็ให้คำตอบผิดได้ในบางครั้ง อย่างกรณีที่มีผู้ใช้งานเว็บบอร์ดชื่อดังอย่าง Reddit รายหนึ่ง ออกมาแชร์ประสบการณ์อันตราย จากการถามสูตรทำความสะอาดจาก ChatGPT ซึ่งคำตอบที่ได้คือ มันแนะนำให้ผสมน้ำส้มสายชูกับสารฟอกขาว ซึ่งนั่นจะทำให้เกิดก๊าซคลอรีน ก๊าซพิษร้ายแรง ที่สูดดมเข้าไปอาจส่งผลถึงชีวิตได้
เมื่อผู้ใช้เตือนถึงความอันตราย AI กลับตอบมาว่า “ขอบคุณที่บอก และอย่าผสมสารฟอกขาวกับน้ำส้มสายชูเด็ดขาด! มันเป็นอันตรายมาก และจะแก้ไขข้อมูลนี้ทันที”
สิ่งที่เกิดขึ้นคืออาการที่เรียกว่า “AI hallucination” หรือการที่ AI สร้างคำตอบผิดๆ ขึ้นมา ที่แม้จะดูน่าเชื่อถือ แต่จริง ๆ แล้วเป็นข้อมูลที่ผิด บิดเบือน หรืออันตราย เพราะ AI ไม่ได้มีวิจารณญาณเหมือนมนุษย์ มันแค่ทำนายคำตอบจากข้อมูลที่เคยเห็นมาเท่านั้น
นี่อาจเป็นสัญญาณเตือนว่า แม้ AI จะตอบคำถามได้เหมือนมีความรู้ แต่มันก็ยังไม่ใช่ “ผู้เชี่ยวชาญ” แท้จริง และไม่ได้มีความสามารถในการตรวจสอบข้อเท็จจริงในแบบที่มนุษย์ทำได้อย่างรอบด้าน
ความเสี่ยงที่ตามมาคือ เมื่อผู้คนเริ่มเชื่อข้อมูลจาก AI มากเกินไป โดยไม่ตรวจสอบให้ดี หรือวิพากษ์วิจารณ์ข้อมูล อาจเกิดความเข้าใจผิดในเรื่องสำคัญ หรือใช้ข้อมูลผิดพลาดในการตัดสินใจ ที่ส่งผลเสียทั้งในชีวิตส่วนตัว และสังคมโดยรวมได้
เพราะข้อมูลบางอย่าง ต้องอาศัยการชั่งน้ำหนัก ความเข้าใจสถานการณ์ และการคิดต่อยอดจากประสบการณ์จริง ซึ่ง AI ยังไม่สามารถแทนที่ได้ทั้งหมด เราจึงควรใช้มันเป็นเครื่องมือช่วยคิด
ไม่ใช่ “เครื่องมือชี้ขาด" เพราะความรับผิดชอบต่อผลการตัดสินใจที่ผิด ยังเป็นของมนุษย์ ไม่ใช่ของ AI
แท็กที่เกี่ยวข้องข่าว